เด็กเป็นอีสุกอีใส

เด็กเป็นอีสุกอีใส

การดูแลและปฏิบัติตัวเมื่อเด็กเป็นอีสุกอีใส

โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า วาริเซลล่า (Varicella-Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด (Herpes Zoster)



การติดต่อ
ติดต่อได้ง่ายๆ โดยการหายใจรดกัน ไอจามใส่กัน การสัมผัสกับตุ่มแผลหรือตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยโดยตรง หรือสัมผัสกับของใช้ของผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม เสื้อผ้า ที่นอน หมอน เป็นต้น โดยโรคอีสุกอีใส มีระยะฟักตัว ประมาณ 10-21 วัน

อาการ
อาการของโรคจะเริ่มจากการมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดท้อง บางรายมีแผลในช่องปาก ลิ้นเปื่อยหรือเจ็บคอ ต่อมาผิวหนังจะขึ้นผื่น โดยขึ้นที่หน้าและลำตัวก่อน แล้วตามด้วยแขนขา ผื่นจะเป็นผื่นแดง เม็ดเล็กๆ มีอาการคัน แล้วกลายเป็นตุ่มพองน้ำใส (หรือตุ่มหนอง ถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย) ผื่นหรือตุ่ม จะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยผื่นหรือตุ่มแต่ละบริเวณของร่างกายอาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นบางที่จะออกเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มน้ำใสๆ บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบาที่ก็เริ่มตกสะเก็ด บางรายที่มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นจะหายใจหอบซึมลงได้ อาจพบภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมักเกิดในผู้ใหญ่ เช่นการติดเชื้อแบคทีเรีย ปอดอักเสบ สมองอักเสบ


การดูแลและปฏิบัติตัวเมื่อเด็กเป็นอีสุกอีใส
โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสเป็นโรคไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 7-10 วัน พบภาวะแทรกซ้อนน้อยในเด้ก จึงควรดูแลให้ดี

1. แยกเด็กที่ป่วย เช่น แยกห้องเพื่อป้องกันติดเด็กคนอื่นๆ และให้หยุดเรียนไม่ไปโรงเรียน

2. ให้เด็กพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ นอนหลับให้เพียงพอ

3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และย่อยง่าย ควรรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน นม ไข่ ถั่วต่างๆ

4. ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ พาราเซทตามอล ไม่ควรให้ยาลดไข้แอสไพริน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่ม อาการไรน์ (Reye's syntrome) ซึ่งจะเกิดความผิดปกติกับสมองและตับได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ หรือใช้แผ่นเจลลดไข้ช่วยอีกทางหนึ่งเป็นการเสริมการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว

5. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันหรือปะปนกันกับผู้ป่วย ทั้งของใช้และของกิน

6. เมื่อมีอาการคันให้ยาแก้คัน ยาแก้แพ้ หรือยาทา คาลาไมน์โลชั่น ตัดเล็กเด็กให้สั้น และพยายามไม่แกะหรือเกาตุ่มคัน ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อจนเป็นตุ่มหนองตามมาได้

7. ควรอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด

8. ถ้ามีอาการปากเปี่อยหรือลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก

9. หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ไข้สูง ซึม ตุ่มพอง เป็นหนอง ไอมีเสมหะมาก เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

10. เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว มักไม่ค่อยมีแผลเป็น หากมีสามารถใช้ครีมลดรอยแผลเป็นทาให้รอยหายได้ เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้ง ใบบัวบก ว่านหางจระเข้ วิตามินอี เป็นต้น



คุยเฟื่องเรื่อง สุขภาพ
เภสัชกรประวิทย์  ตันติสุวิทย์กุล

No comments:

Post a Comment