น้ำร้อนลวกจะทำอย่างไร

น้ำร้อนลวกจะทำอย่างไร


อุบัติเหตุเกิดได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ หากไม่มี “จิตปลอดภัย” หมายถึง ไม่มีความระมัดระวัง อุบัติเหตุในบ้านที่พบบ่อยพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง คือ น้ำร้อนลวก จะโดยสาเหตุใดก็ตามย่อมเกิดการทำลายของผิวหนัง เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อ
“น้ำร้อนลวก ในเด็ดมีอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะ พื้นที่บนร่างกายของเด็กมีน้อยบริเวณน้ำร้อนลวกจึงกว้างและอาจถูกอวัยวะสำคัญ เช่น ลูกตา
1. อย่าตกใจ! จนทำอะไรไม่ถูก ตั้งสติก่อน

2.
นำผู้ได้รับอุบัติเหตุออกจากบริเวณที่มีน้ำร้อน

3.
ใช้น้ำสะอาด (ถ้าเป็นน้ำเย็นยิ่งดี) ราดลงบริเวณที่ถูกลวก เพื่อช่วยระบายความร้อน
    -
อย่า! ถูบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก เพราะ จะทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น
    -
อย่า! แกะแผลที่พอง เพราะ จะทำให้มีการติดเชื้อโรคที่บาดแผลและเสียน้ำจากร่างกาย
    -
อย่า! ใช้น้ำปลาราด เพราะ นอกจากจะเหม็นและแสบแล้ว ยังมีโอกาสนำเชื้อโรคเข้าสู่แผลอีกด้วย


4. ถ้าผู้ถูกน้ำร้อนลวกเป็นเด็ก หรือบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกกว้างลึก หรือถูกอวัยวะสำคัญควรรีบนำส่งสถานพยาบาล หลังจากใช้น้ำสะอาดราดแล้ว

5. ถ้าถูกน้ำร้อนลวกเพียงเล็กน้อย ไม่มีแผล ใช้น้ำแข็งประคบจะทุเลาอาการปวดแสบปวดร้อนลง จากนั้นใช้วาสลินทาบางๆ

6. ถ้ามีแผลพองอย่าแกะ ในไม่ช้าน้ำในแผลพองจะถูกดูดซึมแห้งไปเอง ถ้าแผลพองแตก ให้ใช้ยาแดงแต้มบางๆ

7. ถ้าน้ำร้อนลวกถูกบริเวณตา ให้ป้ายตาด้วยขี้ผึ้งป้ายตาปฏิชีวนะหรือพาราฟีนเหลว หลับตาไว้ปิดตาด้วยผ้าสะอาด ถ้าปวดต้องให้ยาแก้ปวดแล้วนำส่งสถานพยาบาลโดยเร็ว

บุคคลที่ถูกน้ำร้อนลวกมากๆ และปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาเอง ด้วยการพอกยา พ่นยา อาจมีอาการแทรกซ้อนจาก 


    (1) เสียน้ำมาก มีไข้สูง
    (2) แผลติดเชื้อโรคทำให้แผลเน่า หรือเกิดเชื้อบาดทะยัก
     (3) กล้ามเนื้อหรือเอ็นถูกทำลาย ทำให้อวัยวะยึดติดกันหรือผิดรูป เช่น บริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น


ดังนั้น “ควรระมัดระวัง” โดยเฉพาะเด็กในวัยต่างๆ ให้พ้นจากการถูกน้ำร้อนลวก น้ำมันกระเด็น น้ำมันลวก เพราะเด็กยังป้องกันตนเองไม่ได้ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูสามารถป้องกันให้เด็กได้ โดยการมีจิตปลอดภัย

ข้อมูลสื่อ

89-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 1986
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์

http://www.doctor.or.th/article/detail/5621

สุขภาพดี, ดูแลสุขภาพ

ป้องกันข้อเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม

ในฐานะนักกายภาพบำบัด ผู้เขียนต้องรักษาผู้ป่วยเข่าเสื่อมอยู่เป็นประจำ
เข่าเสื่อมเป็นอาการที่รักษาไม่หายขาด และมักจะมีอาการปวดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ป่วยมักทุกข์ทรมาน ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น การนั่งกับพื้น การนั่งขัดสมาธิ ทำกิจกรรมทางศาสนาบางอย่างไม่ได้
ฉบับนี้ผู้เขียนอยากนำเสนอวิธีการดูแลเข่าไม่ให้เสื่อม โดยเฉพาะคนทำงานวัยที่เข่ายังไม่เสื่อม จะได้ใช้เข่าโดยไม่ปวดได้นานๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เข่าเสื่อม
ปัจจัยหลักที่ทำให้เข่าเสื่อมคืออายุ เมื่ออายุมากขึ้นย่อมมีอาการเสื่อมเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับกรรมพันธุ์ ปัจจุบันมีการพบยีนที่มีส่วนทำให้เข่าเสื่อม ปัจจัยทั้ง ๒ อย่างจะแก้ไขได้ยาก แต่ปัจจัยต่างๆ ข้างล่างต่อไปนี้ จะเป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขได้ก็สามารถป้องกันอาการเข่าเสื่อมได้ในอนาคต

๑.  ความอ้วน
ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เป็นโรคข้อเข้าเสื่อมโดยเฉพาะในผู้หญิง น้ำหนักตัวที่มากจะทำให้กระดูกอ่อนเข่าสึกกร่อนและทำให้เอ็นรอบเข่าไม่แข็งแรง ทุกๆ ครึ่งกิโลกรัมที่เพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว จะทำให้น้ำหนักลงไปที่เข่าเพิ่มขึ้น ๑-๑.๕ กิโลกรัม เพราะขณะที่เดินน้ำหนักจะลงที่ขาข้างที่เหยียบอยู่ รวมทั้งมีแรงของกล้ามเนื้อช่วยเสริมให้มีแรงกดที่เข่ามากขึ้น การศึกษาในผู้มีอาการปวดเข่า พบว่าอาการปวดจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถ้าน้ำหนักตัวลดลง

๒.  ผู้หญิงมากกว่าชาย
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าชายโดยเฉพาะผู้หญิงวัยทอง เชื่อว่าอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ลดลง นอกจากนี้ พบว่าผู้หญิงที่เล่นกีฬามีโอกาสที่จะมีการฉีกขาดของเอ็นเข่าได้มากกว่า ๒ เท่าของผู้ชาย การขาดของเอ็นจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายในอนาคต

๓.  การเรียงตัวของเข่า
ผู้ที่มีเข่าชิดกันมากกว่าปกติ (valgus knee) เข่าโก่ง (varus knee) หรือมีเข่าแอ่นมาก (Knee hyperextension) จะมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า

๔. มีประวัติบาดเจ็บของเข่า
เช่น กระดูกแตกบริเวณข้อเข่า หมอนรองกระดูกเข่า (meniscus) หรือเอ็นเข่าฉีกขาด จากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา การบาดเจ็บเหล่านี้จะทำให้ข้อสบกันไม่สนิท อาจมีบางส่วนของข้อที่มีการกดมากกว่าปกติจะทำให้ข้อเสื่อมได้ ลองนึกถึงบานพับประตูที่บิดเบี้ยว แรงที่กดไปที่บานพับจะไม่สม่ำเสมอ ทำให้บานพับสึกกร่อนได้ง่าย

๕. ท่าทาง งานหนัก และงานซ้ำชาก
ท่าทาง งานหนัก และงานซ้ำชาก มีผลทำให้เข่าเสื่อม ซึ่งคนทำงานที่ต้องคุกเข่า นั่งยอง ยืนนาน หรือต้องยกของหนักจะมีอัตราการเกิดข้อเสื่อมได้ง่ายกว่าคนที่ทำงานเบา

นอกจากนี้ การบิดหมุนของเข่าขณะทำงาน เช่น การหมุนตัวขณะยกของหนักจะทำให้เข่าเสื่อมง่ายขึ้น จากงานวิจัย Framingham พบว่า งานเหล่านี้มีผลร้อยละ ๑๕-๓๐ ที่ทำให้เข่าเสื่อมโดยเฉพาะผู้ชายทำงาน
สำหรับผลของการเดินขึ้นบันไดหลายชั้น การเดินมาก หรือ นั่งนานๆ วันละหลายชั่วโมงต่อภาวะข้อเข่าเสื่อมยังไม่ชัดเจนนัก

๖. การเล่นกีฬา
กีฬาที่มีการแข่งขันจะมีผลทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้น นักกีฬาฟุตบอลมีความเสี่ยงจะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะมีอาการบาดเจ็บสะสมจากการกระโดดและการบิดของเข่าเป็นประจำ การที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายที่มากเกินไป เช่น การเดินระยะทางไกล การทำสวน (ต้องนั่งยองหรือเก้าอี้ต่ำบ่อย) มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป

มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการวิ่งกับข้อเข่าเสื่อม พบว่าถ้าไม่มีประวัติบาดเจ็บของข้อเข่ามาก่อน มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมเท่าๆ กับคนที่ไม่ได้วิ่ง

๘. ความยาวขาไม่เท่ากัน
ความยาวของขาที่ไม่เท่ากันมีความสัมพันธ์กับอาการเข่าและสะโพกเสื่อม พบว่าถ้าความยาวของขาทั้ง ๒ ข้างห่างกันเกิน ๑ เซนติเมตร จะมีโอกาสเกิดเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนที่ขายาวเท่ากันทั้ง ๒ ข้างประมาณร้อยละ ๔๐

๙. กล้ามเนื้อหน้าขาอ่อนแรง
กล้ามเนื้อหน้าขามีหน้าที่เหยียดข้อเข่า ลองนั่งห้อยขาและเตะขาขึ้น กล้ามเนื้อกลุ่มนี้จะทำงาน พบว่าผู้หญิงที่มีกล้ามเนื้อหน้าขาอ่อนแรง (เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว) จะมีโอกาสที่เข่าเสื่อมได้มากกว่าคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรง ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) กับ อาการเข่าเสื่อม
นอกจากนี้ อาหารการกินยังมีผลทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ การขาดวิตามินดีและซีลีเนียม จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้น




ป้องกันไม่ให้เข่าเสื่อมได้อย่างไร?
จากความรู้เกี่ยวปัจจัยเสี่ยงข้างต้น สามารถนำมาประยุกต์กับการใช้ชีวิตไม่ให้เข่าเสื่อมในอนาคตได้ดังนี้

๑. อย่ากินและนั่งมากจนอ้วน
พบว่าถ้าลดน้ำหนักตัวลงได้ประมาณ ๕ กิโลกรัม สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ ๕๐ มีหลักฐานยืนยันในผู้มีอาการปวดเข่า พบว่าอาการปวดจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถ้าน้ำหนักตัวลดลง
ออกกำลังด้วยการเดินเร็วปานกลางอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง ร่วมกับการควบคุมอาหารจะช่วยลดความอ้วนได้ดี

๒. โครงสร้างเข่าผิดปกติ
ลักษณะของโครงสร้างเข่าปกติมีหลายชนิด (เข่าโก่ง เข่าชิด หรือเข่าแอ่น) ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น การเสริมรองเท้า การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุง หรือถ้าไม่สามารถทำอะไรได้
ควรใช้เข่าอย่างระมัดระวัง ไม่เสี่ยงเล่นกีฬาหนักที่ใช้เข่ามาก เช่น แบดมินตัน เทนนิส ฟุตบอล ไม่นั่งยอง หรือนั่งพื้นนานๆ

๓. หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาปะทะที่จะนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บของเข่า
ควรเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่เอามัน ไม่ควรเสี่ยงปะทะ เอาชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

๔. ไม่ควรอยู่ในท่าคุกเข่า นั่งยอง ยืน เป็นเวลานาน
ผู้ที่ต้องคุกเข่าทำงานอาจต้องหาวัสดุที่นิ่มมารองบริเวณเข่าเพื่อกระจายแรงกด ถ้าจำเป็นอยู่ในท่าเหล่านี้นานๆ ให้พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้แรงกดที่ข้อสลับเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ในกิจกรรมทางศาสนาที่ต้องนั่งพับเพียบกับพื้นเป็นเวลานาน ให้สลับนั่งพับเพียบซ้าย-ขวาบ่อยๆ ไม่ควรรอจนเข่าปวดแล้วจึงขยับ

๕. เลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกหรือแรงบิดต่อข้อเข่าสูง เช่น การกระโดดซ้ำๆ การยกของหนักเกินกำลัง การหมุนตัวด้วยการใช้หัวเข่า

๖. ลองวัดความยาวขาดู
นอนหงาย ปล่อยขาตามสบายแต่ไม่กาง ให้เพื่อนคลำปุ่มกระดูกบริเวณที่เท้าสะเอว (anterior superior iliac spine, ASIS) และกลางตาตุ่มของเท้าด้านใน วัดระยะห่างจากทั้ง ๒ จุดในขาข้างหนึ่ง ถ้าขาสองข้างยาวไม่เท่ากันเกิน ๒ เซนติเมตร ต้องเสริมรองเท้าในระยะที่ขาด

๗. ออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าขาให้แข็งแรง
อาจใช้วิธีการที่ทำกันทั่วไป คือ ถุงทรายน้ำหนัก ๑-๒ กิโลกรัม มาผูกกับข้อเท้า นั่งห้อยขาแล้วยกขึ้น-ลง ช้าๆ ถ้าได้ ๑๐ ครั้ง แล้วเมื่อยพอดี ให้ทำซ้ำอีก ๒ เซท ถ้ายังง่ายไปก็เพิ่มน้ำหนักถุงทรายทีละ ๐.๕ กิโลกรัม จนได้น้ำหนักที่ยกได้ ๑๐ แล้วเมื่อยพอดี หรือจะออกกำลังด้วยการยืนย่อเข่าทั้ง ๒ ข้างประมาณ ๒๐ องศา ค้างไว้ ๑ วินาที แล้วเหยียดเข่า ทำซ้ำประมาณ ๑๐ ครั้ง ถ้ารู้สึกว่าง่ายไป อาจยืนขาเดียวพิงฝา ปรับจนทำได้ประมาณ ๑๐ ครั้ง แล้วเมื่อยพอดี ทำซ้ำอีก ๒ เซท

๘. ถ้ามีอาการบาดเจ็บของเข่า มีอาการบวม ต้องทำการรักษา และงดการทำกิจกรรมที่ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น เมื่อหายยังไม่สนิทต้องระวังไม่ให้เป็นซ้ำและอย่าปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง

๙. ไม่ควรใส่ส้นสูง จะทำให้เข่าแอ่น มีโอกาสที่เข่าจะเสื่อมได้ง่าย
สวมใส่รองเท้าที่เหมาะกับกีฬาแต่ละประเภท เช่น รองเท้าวิ่งก็ควรมีส้นรองเท้าที่นิ่มรับแรงกระแทกได้ดี รองเท้าสำหรับใส่เล่นแบดมินตันหรือเทนนิสควรมีพื้นบางเพื่อไม่ให้พลิกได้ง่าย เป็นต้น
ถ้าดูแลเข่าของเราให้ดีวันนี้ จะปราศจากอาการปวดในวันหน้า

เอกสารอ้างอิง
ZhangY, Jordan J. Epidemiology of osteoarthritis.Rheum Dis Clin N Am 2008;34: 51529.

http://www.doctor.or.th/article/detail/14212