น้ำร้อนลวกจะทำอย่างไร

น้ำร้อนลวกจะทำอย่างไร


อุบัติเหตุเกิดได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ หากไม่มี “จิตปลอดภัย” หมายถึง ไม่มีความระมัดระวัง อุบัติเหตุในบ้านที่พบบ่อยพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง คือ น้ำร้อนลวก จะโดยสาเหตุใดก็ตามย่อมเกิดการทำลายของผิวหนัง เนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อ
“น้ำร้อนลวก ในเด็ดมีอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะ พื้นที่บนร่างกายของเด็กมีน้อยบริเวณน้ำร้อนลวกจึงกว้างและอาจถูกอวัยวะสำคัญ เช่น ลูกตา
1. อย่าตกใจ! จนทำอะไรไม่ถูก ตั้งสติก่อน

2.
นำผู้ได้รับอุบัติเหตุออกจากบริเวณที่มีน้ำร้อน

3.
ใช้น้ำสะอาด (ถ้าเป็นน้ำเย็นยิ่งดี) ราดลงบริเวณที่ถูกลวก เพื่อช่วยระบายความร้อน
    -
อย่า! ถูบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก เพราะ จะทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น
    -
อย่า! แกะแผลที่พอง เพราะ จะทำให้มีการติดเชื้อโรคที่บาดแผลและเสียน้ำจากร่างกาย
    -
อย่า! ใช้น้ำปลาราด เพราะ นอกจากจะเหม็นและแสบแล้ว ยังมีโอกาสนำเชื้อโรคเข้าสู่แผลอีกด้วย


4. ถ้าผู้ถูกน้ำร้อนลวกเป็นเด็ก หรือบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกกว้างลึก หรือถูกอวัยวะสำคัญควรรีบนำส่งสถานพยาบาล หลังจากใช้น้ำสะอาดราดแล้ว

5. ถ้าถูกน้ำร้อนลวกเพียงเล็กน้อย ไม่มีแผล ใช้น้ำแข็งประคบจะทุเลาอาการปวดแสบปวดร้อนลง จากนั้นใช้วาสลินทาบางๆ

6. ถ้ามีแผลพองอย่าแกะ ในไม่ช้าน้ำในแผลพองจะถูกดูดซึมแห้งไปเอง ถ้าแผลพองแตก ให้ใช้ยาแดงแต้มบางๆ

7. ถ้าน้ำร้อนลวกถูกบริเวณตา ให้ป้ายตาด้วยขี้ผึ้งป้ายตาปฏิชีวนะหรือพาราฟีนเหลว หลับตาไว้ปิดตาด้วยผ้าสะอาด ถ้าปวดต้องให้ยาแก้ปวดแล้วนำส่งสถานพยาบาลโดยเร็ว

บุคคลที่ถูกน้ำร้อนลวกมากๆ และปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาเอง ด้วยการพอกยา พ่นยา อาจมีอาการแทรกซ้อนจาก 


    (1) เสียน้ำมาก มีไข้สูง
    (2) แผลติดเชื้อโรคทำให้แผลเน่า หรือเกิดเชื้อบาดทะยัก
     (3) กล้ามเนื้อหรือเอ็นถูกทำลาย ทำให้อวัยวะยึดติดกันหรือผิดรูป เช่น บริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น


ดังนั้น “ควรระมัดระวัง” โดยเฉพาะเด็กในวัยต่างๆ ให้พ้นจากการถูกน้ำร้อนลวก น้ำมันกระเด็น น้ำมันลวก เพราะเด็กยังป้องกันตนเองไม่ได้ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูสามารถป้องกันให้เด็กได้ โดยการมีจิตปลอดภัย

ข้อมูลสื่อ

89-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 1986
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์

http://www.doctor.or.th/article/detail/5621

สุขภาพดี, ดูแลสุขภาพ

No comments:

Post a Comment