เตือนโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง 
เตือนโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

           นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว สภาพอากาศจะมีความชื้นสูงและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคติดต่อหลายชนิด สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วย และป้องกันโรคที่เกิดในช่วงฤดูฝนนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาย้อนหลัง ๕ ปี จังหวัดลำปางพบโรคที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ 

           ๑. โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 

           ๒. โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก 
 
           ๓. โรคติดต่ออื่นๆ ได้แก่ โรคตาแดง โรคมือ เท้า ปาก และโรคเลปโตสไปโรซิส(ฉี่หนู) 

           จากระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง 

           ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มีผู้ป่วย ดังนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ ๓,๓๕๑ ราย อัตราป่วย ๔๔๕.๕๕ ต่อแสนประชากร โรคปอดบวม ๓,๓๕๗ ราย อัตราป่วย ๔๔๖.๓๔ ต่อแสนประชากร โรคไข้เลือดออก ๗๔๘ ราย อัตราป่วย ๙๙.๔๕ ต่อแสนประชากร โรคตาแดง ๒,๙๗๖ ราย อัตราป่วย ๓๙๕.๖๙ ต่อแสนประชากร โรคมือเท้าปาก ๑,๖๐๔ ราย อัตราป่วย ๒๑๓.๒๗ ต่อแสนประชากร และโรคเลปโตสไปโรซิส(ฉี่หนู) ๑๑ ราย อัตราป่วย ๑.๔๖ ต่อแสนประชากร และ 

           ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มีผู้ป่วย ดังนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ ๗๘๖ ราย อัตราป่วย ๑๐๔.๕๐ ต่อแสนประชากร โรคปอดบวม ๑,๒๔๙ ราย อัตราป่วย ๑๖๖.๐๗ ต่อแสนประชากร โรคไข้เลือดออก ๕๘ ราย อัตราป่วย ๗.๗๑ ต่อแสนประชากร โรคตาแดง ๙๒๖ ราย อัตราป่วย ๑๒๓.๑๒ ต่อแสนประชากร โรคมือเท้าปาก ๓๗๓ ราย อัตราป่วย ๔๙.๕๙ ต่อแสนประชากร และโรคเลปโตสไปโรซิส(ฉี่หนู) ๓ ราย อัตราป่วย ๐.๔๐ต่อแสนประชากร 

           ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีนี้จังหวัดลำปางได้รับการสนับสนุน วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ๔ กลุ่มหลักฟรี ได้แก่ 

           ๑. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ ๔ เดือนขึ้นไป 

           ๒. เด็กอายุ ๖ เดือนถึง ๒ ปี 

           ๓.ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน มะเร็ง 

           ๔.ผู้สูงอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป 

           รวมจำนวนวัคซีน ๔๒,๐๐๐ ราย 

           ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสามารถรับบริการฉีดวัคซีน ได้ที่โรงพยาบาลลำปางและโรงพยาบาลประจำอำเภอ ตั้งแต่ วันที่ ๑ มิถุนายน - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมได้ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย รับประทานผักและผลไม้ กินอาหารร้อนๆสดสะอาด ใช้ช้อนกลางกรณีที่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ 

โรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทุกๆ คน สามารถป้องกันตนเองได้  

          ๑. ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด รวมถึงนอนในมุ้ง ทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง 

          ๒. ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 

          ๓  เก็บ คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เก็บน้ำปิดให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ 

          การดำเนิน ๓ มาตรการนี้ สามารถป้องกันได้ ๓ โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ ๓.การกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย เป็นต้น ถ้าทุกคนช่วยกันก็จะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้

โรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา จากการติดเชื้อไวรัส กลุ่มอาดิโนไวรัส 
ป้องกันได้โดยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ

โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มเอนเตอโรไวรัส เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก มักพบการป่วยในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน 

          การป้องกัน ที่สำคัญคือ การแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน ทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน ควรสอนให้เด็ก ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร กรณีเด็กป่วย ไม่ควรให้เด็กป่วยไปเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

โรคฉี่หนู สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า เลปโตสไปร่า (Leptospira) เข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนานจนอ่อนน้ำ และสามารถติดเชื้อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะหนู 

        การป้องกันโรค 

        ๑. กำจัดหนู ทั้งในนาข้าวและที่อยู่อาศัย 

        ๒. รักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน ปิดฝาถังขยะและเศษอาหารตกค้าง 

        ๓. ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วนให้ปิดแผล และหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ท่วมขัง หรือพื้นที่แฉะ หรือแช่ลงในห้วย หนอง คลอง บึง 

        ๔. ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน ถ้าต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นที่แฉะ 

        ๕. หลีกเลี่ยงการแช่น้ำในห้วย หนอง คลอง บึง นานเกินครั้งละ ๒ ชั่วโมง 

        ๖. รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยทันที หากแช่น้ำหรือลงไปย่ำในน้ำ 

        ๗. เก็บหรือปกปิดอาการและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ 

        ๘. ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงใหม่ๆ ด้วยความร้อน 

        ๙. รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังการจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด 

        สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ระวังโรคติดต่อ ไปยังหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และSocial ต่างๆ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ และประชาสัมพันธ์ในกลุ่ม Social ลำปาง กลุ่มลำปางซิ้ตี้ ทั้งนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง เตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชน เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ เมื่อพบการระบาดของโรค ให้ดำเนินการ สอบสวน ควบคุมโรคทันที่ พร้อมกับรายงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางทราบ และทำการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไป

        ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง

#เตือนโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

โรคผิวหนังหน้าร้อน

โรคผิวหนังหน้าร้อน
หมอบุ๋ม


         เข้าสู่เดือนเมษายน  ฤดูร้อนของบ้านเรา และเมื่อหน้าร้อนเข้ามาเยือน  อากาศที่ร้อนอบอ้าว  แดดที่ร้อนจัดบวกกับความชื้นในอากาศที่สูงของบ้านเราอาจนำมาซึ่งโรคผิวหนังต่างๆ  ที่สาวๆ  จะต้องกังวลใจ เพราะมันทั้งน่ารำคาญ  ทำให้ผิวหนังของเราถูกทำลายและทำให้ใครหลายคนขาดความมั่นใจ  วันนี้หมอมี 3  โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงหน้าร้อนมาฝากกันเป็นความรุ้  จะได้ป้องกันกันไว้ตั้งแต่ก่อนโรคผิวหนังตัวร้ายจะมาทำร้ายเรากัน


       1.  ฝ้าแดด  แสงยูวีในช่วงหน้าร้อนจะทำลายผิวหนังของเราอย่างร้ายกาจ เพราะเจ้ารังสียูวีจะกระตุ้นให้มีกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนังเรามากขึ้นกว่า นำมาซึ่งภาวะฝ้าและกระแดด หรือหากในคนที่เป็นฝ้าอยู่แล้วเดิม  ก็แสดงว่ามีภาวะไวต่อแดดของผิวอยู่แล้วเดิม  ก็จะยิ่งเป็นฝ้าดำง่ายขึ้นไปอีก  แต่วิธีดูแลก็ไม่ยากเลย  เพียงแต่ต้องทาครีมกันแดดอย่างถูกวิธี  โดยเลือกครีมกันแดดที่มี SPF 50  PA+++ โดยทาทุก ๆ  3-4  ชั่วโมง  เพราะฉะนั้น  ใครที่ทำงานในบริษัทหรือสำนักงานต่าง ๆ ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้า  ก็ให้ทาครีมกันแดดตั้งแต่เช้าและก่อนจะออกไปทานข้าวเที่ยง  ถึงตอนเที่ยงนั้น  ครีมกันแดดที่เราทาตอนเช้าก็หมดประสิทธิภาพไปแล้ว ฉะนั้น  อาจจะต้องเลือกครีมกันแดดสูตรน้ำมาทาเพิ่มเติม 15 นาที  ก่อนออกแดดเที่ยงอีกครั้ง เพื่อป้องกันฝ้าแดดที่จะมาทำร้ายผิวหน้าของเรา



       2.  โรคเชื้อราที่ผิวหนัง  เมื่ออากาศร้อนชื้นจะส่งผลให้เรามีเหงื่อออกตามร่างกายมากขึ้น  เพื่อระบายความร้อนในร่างกายออก  และเหงื่อที่สะสมตามรักแร้  ซอกพับต่าง ๆ ของร่างกาย  อาจนำซึ่งเชื้อราในร่มผ้า  เช่น  กลากเกลื้อน  วิะีการดูแลตัวเองก็ควรรักษาความสะอาด  ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายอับชื้น  ถ้ามีเหงื่อออกมาก ๆ  อาจลองหาผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดร่างกายระหว่างวัน  และที่สำคัญควรต้องอาบน้ำก่อนเข้านอนอย่างสม่ำเสมอ  และถ้ามีผื่นแดงหรือขาวขึ้นผิดปรกติตามร่างกาย  ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังทันที



       3.  กลิ่นตัว  ปัญหาที่ร้ายกาจมาก  ๆ  สำหรับในช่วงหน้าร้อน  เพราะทั้งน่าหงุดหงิด  และทำลายความมั่นใจเป็นอย่างมาก   เมื่ออากาศร้อนมากเหงื่อก็จะออกมากขึ้นเพื่อระบายความร้อน  ซึ่งจะทำให้มีกลิ่นตัวมากขึ้น  สร้างความรำคาญใจต่อตนเอง และคนรอบข้าง  วิธีการดูแลตัวเองคือ  รักษาความสะอาดโดยเฉพาะบริเวณรักแร้  การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการลดเหงื่อ  ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์  โรลออน  จะช่วยลดการหลั่งเหงื่อ  และทำให้กลิ่นตัวลดลงได้  แต่คนที่เลือกการใช้โรลออน  ควรกลิ้งอย่างเบามือ  อย่าถูแบบรุนแรง  เพราะจะทำให้รักแร้ของเราดำได้






ครัวคุณต๋อย
เมษายน 2560

#โรคผิวหนังหน้าร้อน